เกรินบันไดนาคเป็นอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นโดยสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) พระโอรสในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้า
กรมพระศรีสุดารักษ์กับเจ้าขรัวเงิน๒ ใช้เพื่อการอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นและลง
พระมหาพิชัยราชรถ แทนการใช้นั่งร้านไม้ต่อยกสูงแบบดั้งเดิม โดยทำเป็น
รางเลื่อนขึ้นลงด้วยกว้านหมุนคล้ายบันไดเลื่อน มีแท่นวางพระบรมโกศ ลักษณะเป็น
แท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้น
ลดระดับลงมา สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลานั่งประคองพระบรมโกศ
ด้านข้างบุผ้าตาดทอง มีราวทั้งสองข้างตกแต่งเป็นรูปพญานาค จึงเรียกว่า
เกรินบันไดนาค นำมาใช้งานเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๕
เกรินบันไดนาคมี ๒ ชุด ชุดหนึ่งใช้เลื่อนเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นสู่บุษบกของพระมหาพิชัยราชรถ ที่บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อีกชุดหนึ่งใช้เลื่อนเชิญพระโกศพระบรมศพลงจากบุษบกพระมหาพิชัยราชรถมาประดิษฐานที่พระยานมาศสามลำคาน หรือราชรถปืนใหญ่ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในปัจจุบันได้จัดทำล้อเลื่อนติดไว้ใต้ฐานสำหรับรับน้ำหนักและช่วยให้เคลื่อนย้ายได้สะดวก
การบูรณปฏิสังขรณ์เกรินบันไดนาคในส่วนความรับผิดชอบของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร มีรายละเอียด ดังนี้
- เช็ดทำความสะอาดซ่อมปิดทองโดยรวม ๕๐%
- เช็ดทำความสะอาดซ่อมกระจกโดยรวม ๕๐%
- เปลี่ยนผ้าตาดทองใหม่ ๑๐๐%
ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็นขั้นตอน ดังนี้
๑. สำรวจส่วนที่ชำรุดเสียหาย
๒. ดำเนินการกะเทาะกระจกที่เสื่อมสภาพและชำรุด
๓. ดำเนินการปิดทองและประดับกระจกใหม่
๔. ทำความสะอาดโดยกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ